2017.08.21

การออกแบบด้วยฟอนต์ภาษาญี่ปุ่น

Gear8

มาถึงบทความภาษาไทยฉบับที่ 2 กันแล้วนะคะ ขอแนะนำตัวก่อนเลยละกัน แอมเป็น designer ของ Gear8 ฝั่งไทย วันนี้จะมาขอแชร์เกี่ยวกับสายงานของตัวเอง ซึ่งก็คือการ design นี่แหละค่ะ เนื่องจากบริษัทเรามีสาขาใหญ่อยู่ที่ญี่ปุ่น แถมงานส่วนมากก็เป็นของลูกค้าญี่ปุ่นอีกด้วย เลยต้องเลือกใช้ฟอนต์ญี่ปุ่นในการทำงานอยู่บ่อยๆ ในสายตาคนไทยแล้ว เอาเข้าจริงมันก็ดูคล้ายๆกันไปหมด จนไม่รู้จะเลือกใช้ฟอนต์ไหนดี อันที่จริงระยะหลังงานดีไซน์พวกคาเฟ่ร้านอาหารหรือแฟชั่นก็เห็น นิยมใช้ตัวอักษรคาตะคานะเพื่อให้งานดูน่ารักและได้ลุคญี่ปุ่นอยู่ แต่จะเลือกฟอนต์ยังไงดีล่ะถึงจะให้งานออกมาดูลุคญี่ปุ่นแท้?

 

สารภาพก่อนเลยว่าเมื่อก่อนเวลารับงานที่ลูกค้าต้องการสไตล์ญี่ปุ่น ตัวเองก็เคยใช้ google translate เอาภาษาญี่ปุ่นหรือเอาพวกตัวคาตะคานะมาแปะประหนึ่งคาถาเสริมความน่ารักเหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นเองแอมก็ยังไม่มีความรู้ทางภาษาญี่ปุ่นอะไรเลย พอย้อนกลับมาดูงานอีกทีเลยรู้ตัวว่าดีไซน์ที่เราลองวาดตัวอักษรเองใช้ scale ผิด (โดยเฉพาะตัว っ กับ ゃ ゅ ょ) แถมยังอ่านยากมากอีกด้วย ที่สำคัญคือ google translate อาจจะพอแปลไทยเป็นอังกฤษได้ใจความอยู่ แต่กับภาษาญี่ปุ่นแล้วมันบ่แม่นค่ะ ความหมายผิดไปไกลอ้อมผ่านทางช้างเผือก เลยไปยังกาแล็คซี่ GN-z11 จนหาทางกลับสู่พื้นโลกไม่ถูกเลยทีเดียว ดังนั้นเลยอยากเตือนใครที่จะใช้งานดีไซน์เป็นภาษาญี่ปุ่นให้ถามญาติสนิทมิตรสหายที่หวังดีกับเราจริงๆแล้วให้เค้าช่วยแปล หรือถามเจ้าของภาษาเลยดีกว่าค่ะ ส่วนเรื่องการเลือกใช้ฟอนต์นั้นเราจะมาบรีฟคร่าวๆละกันนะคะว่าเราควรแยกประเภทฟอนต์ญี่ปุ่นเพื่อการใช้งานยังไงบ้าง

 

ประเภทที่ 1: ประเภท Basic

เป็นประเภทที่ safe ที่สุด ประดุจดั่งฟอนต์ Helvetica ฟอนต์แหล่งตายรังเจ้าประจำของ graphic designer ที่นึกอะไรไม่ออกแล้วก็ต้องกลับมาเลือกฟอนต์นี้อยู่ดี ได้แก่ 明朝体, 游明朝体 และพวกฟอนต์ gothic (ゴシック) ซึ่งตัวอักษรในพารากราฟยาวๆนั้นมักจะเป็นตัวอักษรที่ผอมๆและเป็น serif ถึงจะอ่านง่ายสำหรับคนญี่ปุ่น พวกตัวหนาๆจะใช้เฉพาะ headline ที่เน้นดึงความสนใจเท่านั้นเพราะจ้องนานๆจะรู้สึกเมื่อยตาค่ะ แต่สำหรับงาน presentation แล้วคนญี่ปุ่นจะเน้นฟอนต์ san-serif มากกว่า

amsummitpic-01
ประเภทที่ 2 : น่ารัก/stylish

ฟอนต์แนวนี้ที่สามารถโหลดไปใช้ในงาน commercial ฟรีและมีครบตัวอักษรมักจะไม่ค่อยมีค่ะ เพราะลำบากต่อการสร้างมาก (ตัวอักษรคันจิมีตั้งกี่พันตัว แค่คิดก็ร้องไห้แล้วค่ะ) ดังนั้นแนวๆฟอนต์โหลดฟรีสไตล์น่ารักๆ หลายชุดเลยมักจะมีตัวคันจิไม่ครบ พิมพ์ๆไปคันจิบางตัวก็ถูกเปลี่ยนเป็นฟอนต์อื่นหรือขึ้นตัวสี่เหลี่ยมซะงั้น ข้อควรระวังคือแม้มันจะดูน่ารักแค่ไหน แต่ถ้าใช้ใน headline ที่ประโยคยาวๆก็มีความเสี่ยงที่ งานจะออกมาดูพังสูงขึ้นไปด้วย ยังไงก็ใช้ด้วยความระวังนะคะ ตัวอย่างก็ฟอนต์ shirokuma กับ Kodomo Rounded Gothic Light

amsummitpic-02

Credit : http://www.freejapanesefont.com

ประเภทที่ 3 : เท่ๆคูลๆ

ในงานดีไซน์ของไทยหรือฝรั่งจะมีฟอนต์ที่เรียบหรูดูแล้วคูลสุดๆแบบที่ ถ้าถาม designer แต่ละคนว่าส่วนตัวแล้วคิดว่าฟอนต์ตัวไหนเท่ ทุกคนจะมีชื่อฟอนต์อยู่ในใจอยู่บ้างล่ะ แต่สำหรับฝั่งญี่ปุ่นแล้วพอถามคำถามนี้ทุกคนต้องทำเสียง อืมมม…ยาวๆแล้วเอียงหัวเล็กน้อยประมาณ30องศา แล้วก็ไม่สามารถให้ชื่อฟอนต์นั้นได้ จากปากคำของ director ชาวญี่ปุ่นของ gear8 ก็บอกว่า “ฟอนต์ที่เห็นปุ๊บแล้วรู้สึกว่าเท่น่ะไม่มีหรอกมั้ง เอาจริงๆแล้วงานดีไซน์ญี่ปุ่นที่ดูเท่ๆมันมักจะ เกิดจากการบริหาร space กับภาพถ่ายสวยๆ แล้วใส่แค่ฟอนต์เบสิคแต่มันก็ดูเท่จากภาพรวมละมั้ง”

amsummitpic-03

link: https://bookma.org << เป็นแหล่งรวมงานเว็บญี่ปุ่นสวยๆเท่ๆไว้เยอะเลย ว่างๆลองเข้าไปดูได้นะคะ

 

ประเภทที่ 4 : ฟอนต์ที่ควรเลี่ยงในงานดีไซน์

สำหรับภาษาอังกฤษ ฟอนต์ที่เป็นฟอนต์ต้องห้ามในงานออกแบบของ designer หลายคนคงหนีไม่พ้น comic-sans ด้วยความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัวก็เกิดความสงสัยว่าแล้วฟอนต์ที่ปกติ designer ชาวญี่ปุ่นทุกคนเลี่ยงคืออะไรล่ะ? พอลองถาม director ของเราก็มีท่าทางคิดหนักก่อนจะบอกว่า “คงไม่มีหรอกมั้งฟอนต์ที่ควรเลี่ยงในงานออกแบบ…เอ่อ คงแค่เป็นฟอนต์ที่ไม่เหมาะกับสไตล์งานที่เราต้องการมากกว่า แถมอีกอย่างถ้าพูดว่าไม่ชอบฟอนต์นี้ก็สงสารคนดีไซน์เค้าน่ะ…”

และท้ายที่สุดนี้เราก็ได้ลองถาม director ชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในดีไซน์ที่ใช้ฟอนต์ภาษาญี่ปุ่นของชาวต่างชาติมาสรุปเป็นข้อๆกันค่ะ

1. ใช้ฟอนต์ภาษาต่างชาติที่พยายามทำให้เหมือนตัวอักษรฮิรากานะหรือคาตะคานะ

“อันนี้มักจะพบเห็นได้บ่อย พวกฟอนต์ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยโหลดฟรีที่ทำให้มีความคล้ายตัวฮิรากานะหรือคาตะคานะ ซึ่งในสายตาคนไทยอาจจะมองว่า มันได้ฟีลญี่ปุ่น อันนี้สำหรับคนญี่ปุ่นเองมองว่ามันอ่านยากและฟอนต์หลายตัวดูไม่ใช่ลุคญี่ปุ่นเลย แต่ออกแนวไปทางจีน ดังนั้นการจะใช้ฟอนต์แบบนี้ต้องคำนึงว่าทาร์เก็ตเราเป็นใคร แต่ถ้าอยากได้งานที่ออกมาเป็นลุคญี่ปุ่นแท้ๆก็แนะนำว่าควรเลี่ยง”

2. เลือกฟอนต์ได้ไม่เข้ากับ character ร้าน

“จริงๆก็เหมือนกับภาษาไทยหรือภาษาอื่นๆที่ฟอนต์มันจะมีคาแรกเตอร์ของมัน ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดในไทยมักจะเป็นร้านซูชิ เพราะร้านซูชิญี่ปุ่นจริงๆจะนิยมใช้ฟอนต์ที่หนาหน่อย ฟอนต์ san-serif ภาษาญี่ปุ่นตัวบางๆนั้นในมุมของคนญี่ปุ่นแล้วจะเป็นฟอนต์ที่ให้ความรู้สึก ‘น่ารัก’ ดังนั้นเวลาเห็นร้านซูชิในไทยร้านไหนที่ใช้ฟอนต์ตัวบางๆก็จะมีความรู้สึกขัดๆกันอยู่บ้าง ส่วนฟอนต์แนว serif ที่ตัวหนาๆแล้วมีตะวัดๆตรงปลายส่วนมากจะให้อารมณ์ซุ้มพวกของกินที่ขายตามงานเทศกาลฤดูร้อน พอเห็นมันไปอยู่ในงานดีไซน์ประเภทแฟชั่นหรือร้านอาหารหรูๆเลยรู้สึกแปลกๆเหมือนกัน”

3. ใช้ตัวอักษรคาตะคานะประกอบคำภาษาอังกฤษ

“สำหรับงานออกแบบของญี่ปุ่นแท้ ปกติจะต้องเอาตัวอักษรญี่ปุ่นขึ้นก่อนแล้วค่อยมีชื่ออังกฤษข้างล่าง ดังนั้นเวลาเห็นชื่อที่มีตัวอังกฤษขึ้นก่อนแล้วเป็นซับญี่ปุ่นข้างล่าง เลยเป็นอะไรที่สามารถรับรู้ได้ทันทีว่าน่าจะเป็นแบรนด์ต่างชาติ” ส่วนตัวอันนี้แอมมองว่ามันก็ไม่เชิงเป็นข้อผิดพลาดเพราะยังไงส่วนมากเราก็ขายงานคนไทย ดังนั้นการจะนำภาษาอังกฤษเป็น main ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เอาเป็นว่าถ้าอยากได้ลุคญี่ปุ่นจ๋าจริงๆก็จำข้อนี้ไว้ละกันค่ะ

4. ใช้ตัวอักษรผิดสำหรับการเขียนแบบแนวตั้งกับแนวนอน

“อันนี้พบได้บ่อยมากตามคาเฟ่หรือตามร้านสะดวกซื้อของไทยที่ขายเมนูญี่ปุ่น คือการเขียนตัวอักษรญี่ปุ่นจะมีทั้งแบบแนวนอนและแนวตั้ง ซึ่งการเขียนจะต่างกันอยู่เล็กน้อย แต่ชาวต่างชาติส่วนมากจะอิงจากการเขียนแนวนอนไปวางในแนวตั้ง โดยเฉพาะตัว ー “

amsummitpic-04

Photo Credit: https://commons.wikimedia.org/wiki/File%3AStrawberry_crape_shortcake6.JPG

ก็ถือว่า tips เล็กๆสำหรับใครที่ต้องทำงานออกแบบลุคญี่ปุ่นนะคะ ไว้เจอกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ^^

 

Facebook
X

Gear8

Gear8卒業生による記事です。